พัฒนาคุณภาพการศึกษาออนไลน์ BANGSAIY PLF-MODEL(R&D)
สอนลูกเรียนรู้อะไรผ่านม็อบ/คอลัมน์ พ่อแม่ลูกปลูกรัก สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
แต่ ประเด็นที่ห่วงใยก็คือบางครอบครัวที่มีเด็กด้วยต่างหากล่ะ ที่ต้องตระหนักและพึงระลึกไว้ด้วยว่าช่องทางที่คุณได้เลือกนั้น ได้ส่งผ่านต่อไปยังลูกหลานด้วยอย่างแน่นอน
และสิ่งที่ตามมาก็คือคำถามจากเด็ก จากเด็กทุกวัย มีทั้งคำถามที่เราเองก็ตอบได้บ้าง ไม่ได้บ้าง และทึ่งกับคำถามบ้าง และพ่อแม่ได้ใส่ใจหรือให้ความสำคัญกับการตอบคำถามหรือไม่
จริงอยู่สำหรับพ่อแม่ที่ลูกอยู่ในวัย เด็กเล็ก อาจจะไม่ได้สนใจหรือไม่ใส่ใจที่จะตอบคำถามกับลูกมากนัก เพราะเห็นว่าเขายังเด็ก คงไม่เข้าใจ จริงๆ ก็ไม่แนะนำให้เด็กที่อยู่ในช่วงปฐมวัยไปม็อบหรือรับข่าวสารเรื่องม็อบเลยค่ะ ฉะนั้น พ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในช่วงปฐมวัย ถ้าต้องติดตามข้อมูลข่าวสารก็ควรเพิ่มความระมัดระวัง เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจเหตุผล แต่เขาจะซึมซับจากสิ่งที่เห็นเข้าไปได้ง่าย อาจเกิดการเลียนแบบ และซึมซับติดตัวไปได้
ถ้าเป็นเด็กวัยประถม พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถพูดคุยกับเขาได้ โดยคำนึงถึงวัยและการรับรู้ของเขาเป็นหลัก อาจถามลูกก็ได้ว่าลูกคิดอย่างไร เพราะลูกเริ่มเข้าใจเหตุผลง่ายๆ ได้ตามวัยของเขา อาจจะยกตัวอย่างสถานการณ์ให้ลูกตอบ หรือแสดงความคิดเห็นด้วยก็ได้ ว่าถ้าลูกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ลูกจะทำอย่างไร
แต่สำหรับดิฉัน ซึ่งลูกกำลังเข้าสู่วัยรุ่น จึงทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และคิดว่าเราสามารถเรียนรู้อะไรได้มากมายจากม็อบ และกลายเป็นบทเรียนร่วมกันได้เป็นอย่างดี
เจ้าคนโตของดิฉันวัยเกือบ 16 ปี และเจ้าคนเล็กวัย 14 ปีเศษ เขาทั้งสองสามารถรับรู้และเข้าใจเหตุผลที่ซับซ้อนได้พอสมควร และครอบครัวของเราก็พูดคุยกันทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องการเมือง จึงทำให้เขาพอเข้าใจ แล้วเหตุการณ์ครั้งนี้ก็เช่นกัน จังหวะที่โรงเรียนของลูกหยุดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ครอบครัวของเราก็พากันไปเรียนรู้จากสถานการณ์จริง
ภายหลังกลับจากการชุมนุม ดิฉันได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าคนโต ซึ่งสนใจเรื่องเหตุบ้านการเมืองอยู่บ้าง และลองให้เขาพูดถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการไปร่วมชุมนุมในครั้งนี้
เขาบอกว่าเขาได้อะไรมากมายจากการไปร่วมชุมนุม ซึ่งจำแนกออกมาดังนี้
ข้อแรก เรียนรู้วิธีการพูดปราศรัยของบรรดาแกนนำ ซึ่งแต่ละคนก็มีบุคลิกแตกต่างกัน ต้องมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากการพูดธรรมดา การพูดด้วยท่าทีที่ดุดัน น้ำเสียงหรือท่าทางก็ต้องปลุกเร้า ซึ่งไม่ใช่ใครก็ทำได้
ข้อสอง เรียนรู้วิธีคิดของผู้คน รู้ว่ากลุ่มผู้คนที่ออกมาจำนวนมากคิดอย่างไร ต้องการอะไร และเมื่อมีความคิดเห็นที่แตกต่างก็แสดงออกด้วยการมาร่วมชุมนุม ซึ่งมีจำนวนผู้คนมากเหลือเกิน
ข้อสาม เรียนรู้วิถีชีวิตในม็อบ คนส่วนใหญ่จะมีสัญลักษณ์บางอย่างที่แสดงออกมาว่าเป็นพวกเดียวกัน เช่น นกหวีด สายห้อยคอธงชาติ ที่คาดผมธงชาติ เสื้อยืดที่เขียนบอกความรู้สึก ฯลฯ
ข้อสี่ เรียนรู้ว่าต้องเตรียมตัวอะไร พอรู้ว่าต้องไปม็อบก็ต้องเตรียมตัวว่าจะต้องเอาอะไรไปบ้าง เช่น การแต่งกายที่กระชับ ใส่รองเท้าผ้าใบ สะพายเป้ เตรียมของกิน น้ำดื่ม รวมไปถึงอุปกรณ์ที่อาจเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินก็พกไปด้วย
ข้อห้า เรียนรู้จักแบ่งปันผู้อื่น เราเตรียมของกินไป เราก็แบ่งให้คนอื่น เราเจอคนอื่นเขาก็แบ่งปันให้เรา มันเป็นความรู้สึกที่ดีที่เจอในกลุ่มผู้ชุมนุมครั้งนี้
ข้อหก เรียนรู้ว่าควรมีการวางแผนหากเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก อาจเกิดเหตุได้ทุกเมื่อ เช่น การพลัดหลง ซึ่งก็เกิดขึ้นจริง แต่เนื่องจากมีการพูดคุยกันก่อนว่าเวลาเดินในกลุ่มผู้ชุมนุม ให้เดินจูงมือหรือติดกับใครไว้ และถ้าหลงแล้วจะไปเจอกันที่ไหน
ทั้ง 6 ข้อ เป็นสิ่งที่ได้จากการไปม็อบ เป็นการเรียนรู้ร่วมกันของครอบครัวเราที่สามารถนำไปต่อยอดทักษะด้านอื่นๆ ได้อีกมากมาย เพื่อให้เขาได้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่หลากหลาย และเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยไปด้วย
เพราะพ่อแม่มีส่วนอย่างยิ่งในการปลูกฝังเรื่องประชาธิปไตย และการสร้างทักษะเรื่องการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความขัดแย้ง
ทีนี้ลองหันมามองความเป็นพ่อแม่ในสังคมไทยกันบ้างว่ามีสไตล์การเลี้ยงลูกในเรื่องดังกล่าวคร่าวๆ อยู่ 3 แบบ
แบบแรก พ่อแม่เผด็จการ เรียกว่าลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่เท่านั้น ถ้าพ่อแม่คิดเห็นหรือเชื่ออย่างไร ลูกก็ต้องเดินตาม และเชื่อฟังตามนั้นเท่านั้น
แบบที่สอง พ่อแม่ที่ปล่อยปละละเลย ไม่มีกฎกติกา ลูกอยากทำอะไร ไม่อยากทำอะไร ก็ไม่เคยเป็นปัญหา ไม่ว่าเรื่องนั้นจะถูกหรือจะผิดก็ปล่อยไปตามยถากรรม
แบบที่สาม พ่อแม่ที่สร้างครอบครัวประชาธิปไตย เป็นครอบครัวในฝันที่เคารพความคิดเห็นของสมาชิกในครอบครัว แม้ลูกเป็นเด็ก ก็รับฟัง และสามารถแสดงความคิดเห็นได้เช่นกัน แต่พ่อแม่ประเภทนี้ก็หาไม่ง่าย
พ่อแม่ทั้งสามแบบมีส่วนต่อการสร้างการรับรู้และเรียนรู้ให้ลูกเข้าใจ ในเรื่องประชาธิปไตยแบบไหน และไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ไหน เราก็สามารถเรียนรู้ได้ค่ะ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 11 ธันวาคม 2556
© 2023 Created by Surin yingneuk.
Powered by
You need to be a member of เครือข่ายครูไทย เชิงประจักษ์ ว.13 kruthai40 to add comments!
Join เครือข่ายครูไทย เชิงประจักษ์ ว.13 kruthai40