" การศึกษาของเรายังเป็นไปในรูปที่ไม่ได้สร้างคนให้รู้จักใช้ความคิด
การศึกษาของเราทั้งระบบเป็นระบบที่ใช้ความจำ ท่องบ่น
ผู้ที่สอบได้คะแนนดีได้แก่ผู้ที่ซึ่งสามารถจะตอบคำถามได้มากที่สุด
ไม่ได้มุ่งเน้นความพยายามที่จะกระตุ้นสร้างความคิดอ่าน สร้างวิจารณญาณสร้างความคิดริเริ่มให้กับบุคคล
นี่สืบเนื่องมาจนกระทั่งในมหาวิทยาลัย..."...
ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ
6 ตุลาคม 2502
59 ปีมาแล้ว ข้อความนี้ยังเป็นความจริง และยังเป็นปัญหาอยู่มาถึงจนทุกวันนี้
ดร. อดุล วิเชียรเจริญ ไม่เพียงแต่พูดถึงหลักการ แต่ได้ลงมือลงแรงผลักดันจนสำเร็จ ถึงขั้นจัดหลักสูตรวิชาพื้นฐานหรือ Liberal Arts ใช้สอนนักศึกษาธรรมศาสตร์ปีที่ 1 และปีที่2 ทั้งมหาวิทยาลัย อยู่หลายรุ่น ซึ่งหากว่าขบวนการเรียนการสอนในลักษณะนี้กระทำได้ต่อเนื่องมาตลอดจนถึงวันนี้ ประเทศไทยจะมีบัณฑิต ที่พร้อมรับเศรษฐกิจยุค 4.0 อย่างเหมาะสมและจะเป็นกำลังนำพาประเทศไทยให้รุ่งเรืองได้อย่างแน่นอน
จาก หนังสือที่ระลึก ศาสตราจารย์ ดร. อดุล วิเชียรเจริญ
ในงานพระราชทานเพลิงศพ อาทิตย์ที่ 27 พค. 2561
ผมและภรรยาได้ไปร่วมงานนี้และได้รับแจกหนังสือที่ระลึกอันมีค่า เล่มใหญ่หนา 417 หน้านี้มา
แม้ผมจะได้รู้จักกับคุณเอม คุณอาจ วิเชียรเจริญ และคุณอานิก อัมระนันทน์ ลูกชายและลูกสาวของดร. อดุล วิเชียรเจริญ มานาน แต่ก็ทราบประวัติท่านมาเพียงว่าท่านเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงมากคุ้นหูคนไทย
แต่เมื่อมาเริ่มอ่านประวัติของท่านโดยละเอียด จึงได้ทราบเรื่องราวชีวิตและผลงานของท่านที่น่าสนใจหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเรื่องความคิดล้ำยุคของท่าน ที่มีมากมายหลายเรื่อง แต่ที่ผมชื่นชมมาก
คือการที่ท่านได้ผลักดันจนสำเร็จในสมัยท่านให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ทุกสาขาต้องเรียนวิชาพื้นฐานที่เรียกว่า Liberal Arts เป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปเรียนวิชาอาชีพสาขาต่างๆ
( Liberal Arts นี้ต่อมา ศาสตราจารย์ พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นผู้คิดชื่อภาษาไทยประทานให้ เป็นคำว่า "ศิลปศาสตร์" )
หมายเหตุ: ต้นแบบของการศึกษาแบบ Liberal Arts ให้เป็นความรู้พื้นฐานก่อนเข้าสู่การไปศึกษาวิชาชีพต่างๆ คือประเทศอังกฤษ และแม้แต่ในในอเมริกาและญี่ปุ่น ก็ยังมีการให้ศึกษาในลักษณะนี้อยู่
วิชาที่สอนกันเป็นวิชาพื้นฐานที่ให้บัณฑิตทุกสาขาต้องศึกษาเล่าเรียนก่อน มีอาทิเช่น วิชาปรัชญา ศาสนา
ตรรกะศึกษา อารยธรรมตะวันออก อารยธรรมตะวันตก ศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม ขบวนการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ทั้งหมดนี้เพื่อซึมซับให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของบัณฑิตทุกคน
ดร.อดุล วิเชียรเจริญ เป็นนักการศึกษาไทย ที่คนทั้งหลาย ยกย่องท่านว่า เป็นคนที่ :
กล้าคิด
กล้าฝัน
กล้าทำ
กล้าเปลี่ยนแปลง
You need to be a member of เครือข่ายครูไทย เชิงประจักษ์ ว.13 kruthai40 to add comments!
Join เครือข่ายครูไทย เชิงประจักษ์ ว.13 kruthai40